โครงการพัฒนาหลักสูตรเพื่อการรับรองมาตรฐาน ด้วยเกณฑ์ AUN QA

ฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จัดโครงการพัฒนาหลักสูตรเพื่อการรับรองมาตรฐาน ด้วยเกณฑ์ AUN QA ระหว่างวันที่ 10 -12 มีนาคม 2568 ณ อาคารเรียน 2401 เพื่อการพัฒนาหลักสูตรที่เปิดการเรียนการสอนภายในคณะศิลปกรรมศาสตร์ ยกระดับคุณภาพการศึกษาให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล อีกทั้งเป็นการปรับปรุงกระบวนการเรียนการสอน ตลอดจนเสริมสร้างความเข้าใจให้กับคณาจารย์และบุคลากรเกี่ยวกับหลักการและแนวทางการดำเนินงานและเพิ่มศักยภาพของบัณฑิตให้มีสมรรถนะตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานให้มีความสอดคล้องกับเกณฑ์การประเมินของ AUN-QA
ในการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิร่วมบรรยายและถ่ายทอดองค์ความรู้เชิงลึก พร้อมทั้งให้คำแนะนำแนวทางปฏิบัติในด้านต่างๆ โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.ฐิติกาญจน์ อัศตรกุล, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรวิทย์ อัสสพันธุ์, อาจารย์ ดร.กิตติรัตน์ ปลื้มจิตร และ ดร.อุบลวรรณ ปลื้มจิตร ซึ่งล้วนเป็นบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาของตน อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้เข้าร่วมอบรมในการนำไปประยุกต์ใช้ต่อไป
ในวันแรกของกิจกรรม เวลา 09.00 น. รองศาสตราจารย์ ธณัส หินอ่อน รองคณบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของโครงการ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมและประธานในพิธีได้รับทราบถึงแนวทางและเป้าหมายของการอบรม จากนั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุรินทร์ เปล่งดีสกุล คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ ในฐานะประธานในพิธี ได้กล่าวต้อนรับวิทยากรและผู้เข้าร่วมการอบรมอย่างเป็นทางการ พร้อมแสดงความยินดีแก่ทุกท่านที่เข้าร่วมกิจกรรม
เนื้อหาการบรรยายและกิจกรรมตลอดการอบรมเชิงปฏิบัติการทั้ง 3 วัน ได้รับการออกแบบให้ครอบคลุมประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อการพัฒนาหลักสูตรและบัณฑิตในอนาคต โดยมีกิจกรรมหลักดังนี้
🔹 การบรรยายหัวข้อ “วิเคราะห์ความแน่นอนและความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี ที่ส่งผลต่อการทำงานของบัณฑิตในอีก 10 ปีข้างหน้า” โดย รองศาสตราจารย์ ดร. ฐิติกาญจน์ อัศตรกุล ซึ่งช่วยให้ผู้เข้าร่วมอบรมตระหนักถึงปัจจัยภายนอกที่อาจส่งผลกระทบต่อแนวทางการพัฒนาหลักสูตรและทักษะของบัณฑิต
🔹 การบรรยายหัวข้อ “คุณลักษณะของบัณฑิตที่คาดหวัง พร้อมกำหนดผลลัพธ์การเรียนรู้ของหลักสูตร (PLOs)” โดย รองศาสตราจารย์ ดร. ฐิติกาญจน์ อัศตรกุล ซึ่งมุ่งเน้นการวางแนวทางให้หลักสูตรสามารถผลิตบัณฑิตที่มีความพร้อม ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงานและการเปลี่ยนแปลงของสังคม
🔹 กิจกรรมระดมความคิด โดยผู้เข้าร่วมอบรมถูกแบ่งกลุ่มตามสาขาวิชาต่าง ๆ เพื่อร่วมกันหาแนวทางการปฏิบัติที่เหมาะสม อันจะนำไปสู่การพัฒนาหลักสูตรที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญและบุคลากรทางการศึกษาในสาขาต่าง ๆ ช่วยเสริมสร้างมุมมองที่หลากหลายและสามารถนำไปปรับใช้ในการพัฒนาหลักสูตรได้อย่างเป็นรูปธรรม

Highlights