วันนี้ 3 กันยายน 2567 เวลา 13.00 น. ณ โรงละครคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้มีการจัดกิจกรรมโครงการละครเพลงร่วมสมัย “นางไอ่”การประสานหมอลำและศิลปะการละคร เพื่อพัฒนาความรู้และปฏิบัติการสร้างการแสดงแนวทางใหม่ในท้องถิ่นอีสาน ในระหว่างวันที่ 3- 5 กันยายน 2567
ซึ่งกิจกรรมในวันที่ 3 นั้น ได้มีการเสวนาในหัวข้อ “82ปี ลำเรื่องต่อกลอน จากรากสู่เรา” วิทยากรที่เข้าร่วมเสวนาประกอบไปด้วย วันดี พลทองสถิตย์ (ศิลปินมรดกอีสาน ปี 2559) อรวรรณ รุ่งเรือง (หมอลำโล่พระราชทาน ปี 2538) รุ่งฟ้า กุลาชัย (ศิลปินมรดกอีสาน ปี 2557) ผศ.ทินกร อัตไพบูลย์ (รางวัลวัฒนคุณาธร) อาจารย์ ดร.ดวงฤทัย บุญสินชัย (อาจารย์สอนขับร้องหมอลำอีสานนครศิลป์และหมอลำไอดอล) ดำเนินรายการโดย สุมาลี สุวรรณกร ในเวลา14.00 น.-15.00 น. ได้มีการเสวนาในหัวข้อ “ทำลำเรื่องอย่างไรให้ Glocalization” วิทยากรที่เข้าร่วมเสวนาประกอบไปด้วย ผศ.ดร.ทรงวิทย์ พิมพะกรรณ์ (ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย) ผศ.ดร.มนูญศักดิ์ เรืองเดช (ศิลปินหมอลำและอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี) ผศ.ดร.พชญ อัคพราหมณ์ (ผู้กำกับการแสดงละครลำเรื่อง “นางไอ่”) อ.ดร.แก้วตา จันทรานุสรณ์ (ผู้เชี่ยวชาญด้านกลอนลำและวรรณกรรมอีสานร่วมสมัย) คุณสุชาติ อินทร์พรหม (ผู้บริหารคณะหมอลำอีสานนครศิลป์และหมอลำไอดอล)
เสร็จสิ้นจากการเสวนาได้มีการปิดโครงการอย่างเป็นทางการและได้รับเกียรติจาก นางสาวสมลักษณ์ คล่องแคล่ว ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการส่งเสริมงานวิจิตรศิลป์ สำนักศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนาธรรมเป็นประธานในพิธีเปิดงาน และ ผศ.ดร.บุรินทร์ เปล่งดีสกุล คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ ได้กล่าวต้อนรับแขกผู้มีเกียติที่ได้เข้ามาร่วมงานในครั้งนี้ พร้อมทั้งได้ร่วมรับชมการแสดงละครเพลงร่วมสมัย “นางไอ่”การประสานหมอลำและศิลปะการละคร รอบปฐมทัศน์มีแขกผู้มีเกียรติทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยเข้าร่วมชมการแสดงครั้งนี้
ผศ.ดร.บุรินทร์ เปล่งดีสกุล กล่าวว่า “การแสดงครั้งนี้ได้นำวรรณกรรมอีสานคลาสสิคเรื่อง “ผาแดง-นางไอ่” มาตีความใหม่ และปรับบริบทเรื่องให้เป็นปัจจุบัน ภายใต้ชื่อเรื่อง “นางไอ่” ทีมผู้สร้างสรรค์ประกอบศิลปินหมอลำอาชีพ คณาจารย์ นักศึกษา และศิษย์เก่า คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม และความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะหมอลำอีสานนครศิลป์ ศิลปินหมอลำไอดอล ศิลปินมรดกอีสาน วงโปงลางสินไซ หาวิทยาลัยขอนแก่น ตลอดจนผู้ให้การสนับสนุนอีกหลายส่วน”
การแสดงละครเพลงลำเรื่อง “นางไอ่” เป็นการสร้างสรรค์การแสดงหมอลำแนวทางใหม่ ที่เรียกว่า Morlam in Theatre (A New Musical) เป็นรูปแบบละครเพลงลำเรื่องที่เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นการผสานหมอลำและศิลปะการละครเข้าด้วยกัน โดยพัฒนาองค์ความรู้และปฏิบัติการสร้างการแสดงแนวทางใหม่ในท้องถิ่นให้มีการประยุกต์ใช้องค์ประกอบการแสดงหมอลำอีสานร่วมกับแนวคิดและรูปแบบละครเพลงของตะวันตก อีกทั้งยังเป็นการนำวรรณกรรมอีสานดั้งเดิมมาศึกษาและพัฒนาวิธีการเล่าเรื่องใหม่ ให้มีความร่วมสมัยและสื่อสารความคิดที่เป็นสากลไปยังผู้ชม
ค้นหาและพัฒนารูปแบบการแสดงหมอลำอีสานให้เกิดแนวทางใหม่ที่มีความแตกต่างจากดั้งเดิม เพื่อส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยในท้องถิ่นไทย