หลักสูตรวิชาทัศนศิลป์ สาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นจัดโครงการศิลปกรรมโดยศิลปินรุ่นเยาว์ภาคอีสาน ครั้งที่ 6 “อุก อั่ง เอ้า Little Tales of Our Time” เพื่อที่จะขับเคลื่อนศิลปะร่วมสมัยในภาคอีสาน ซึ่งหนึ่งในแนวคิดนั้นคือโครงการ ศิลปะกรรมโดยศิลปินรุ่นเยาว์ภาคอีสาน หรือ” Head Young” ที่เป็นโครงการ ที่จะสร้างโอกาสให้กับนักศึกษาหรือศิลปินที่อายุไม่เกิน 25 ปี ที่พำนักในเขตภูมิภาคอีสาน และให้เยาวชนคนอีสานได้แสดงศักยภาพทางด้านการสร้างสรรค์ทางด้านทัศนศิลป์โดยไม่จำกัดรูปแบบ โดยมีภัณฑารักษ์ที่มีชื่อเสียงในระดับประเทศ มาช่วยพัฒนาผลงานและนำเผยแพร่เป็นนิทรรศการ
และได้มีการเปิดนิทรรศการผลงานของศิลปินทั้ง 3 เมื่อวันเสาร์ที่ 24 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ขอนแก่น (TCDC ขอนแก่น) ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายชุตยาเวศ สินธุพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ขอนแก่น เป็นประธานในพิธีเปิดและกล่าวรายงานโดย ผศ.วิจิตร วินทะไชย รองคณบดีฝ่ายบริหารได้กล่าวรายงานที่ความเป็นมา การจัดแสดงครั้งนี้สามารถเข้าเยี่ยมชมผลงานได้จนถึงวันที่ 29 มกราคม 2566
อ.ดร.เจด็จ ทองเฟื่อง ประธานการดำเนินโครงการได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “โครงการศิลปกรรมโดยศิลปินรุ่นเยาว์อีสาน ซึ่งได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2559 โดยกลุ่มคณาจารย์ในหลักสูตรทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เนื่องจากได้เล็งเห็นปัญหาของกลุ่มนักสร้างสรรค์ที่เป็นเยาว์ชนในภูมิภาคอีสานที่ขาดความต่อเนื่องในการสร้างผลงานศิลปะ โดยนักศึกษาส่วนใหญ่ที่เรียนจบมักจะไม่ได้สร้างสรรค์หรือพัฒนาผลงานของตนให้ต่อเนื่อง โดยหนึ่งในเหตุปัจจัยที่เป็นปัญหาคือ ทุนหรืองบประมาณในการสร้างสรรค์ที่ไม่เพียงพอ ซึ่งโครงการศิลปกรรมโดยศิลปินรุ่นเยาว์อีสานครั้งที่ 6 จึงเป็นโครงการต่อเนื่อง ที่เพิ่มโอกาสและทางเลือกให้กับศิลปินรุ่นเยาว์ในภาคอีสาน โดยในปีนี้ โครงการได้รับเกียรติจากภัณฑารักษ์ สองท่าน คือ คุณพิรญาณ์ อาจวิชัย และคุณกานต์ธิดา บุษบา มาเป็นภัณฑารักษณ์คัดเลือกผลงาน โดยมีผู้ที่ได้รับการคัดเลือก สามท่านที่จัดแสดงผลงานในวันนี้ คือ นายกฤษฏา การประไพ ,นายเฉลิมชัย บุตรโต และนายอัฐกร แก้วหาวงศ์ ”
อุกอั่ง หรือ อุกอั่งเอ้า เป็นคำแสดงอาการในภาษาอีสานเมื่อมีเรื่องอัดอั้นตันใจ กลัดกลุ้มใจ หรือปัญหาที่คิดไม่ตก และยังเป็นคำที่ใช้ถามไถ่เวลาเห็นคน รู้จักทำหน้าไม่สู้ดี เช่น “เป็นหยังล่ะอ้าย คึมาเฮ็ดหน่าอุกอั่งแท้” (เป็นอะไรหรือเปล่า ทำไมสีหน้าไม่สู้ดีเลย) นิทรรศการ อุก อั่ง เอ้า Little Tales of Our Time ของโครงการศิลปกรรมโดยศิลปินรุ่นเยาว์อีสาน (HEADYOUNG #6) เปิดพื้นที่ให้กับศิลปินที่มี เรื่องอยากจะเล่า ได้พัฒนาวิธีการเล่าเรื่องในแบบต่างๆ ร่วมกับภัณฑารักษ์ผ่านกระบวนการวิจัยและทดลองวิธีการทำงานอย่างหลากหลาย เพื่อสำรวจ ความเป็นไปได้ในการทำงานของตนเอง นิทรรศการนี้ฉายภาพเรื่องเล่าของยุคสมัยผ่านมุมมองของศิลปินรุ่นเยาว์ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความหลากหลายทาง เพศ, การขยายตัวของเมือง หรือการย้อนกลับไปมองงานไทยประเพณีอย่างประเพณีแห่เทียนอีกครั้งด้วยมุมมองร่วมสมัย
กฤษฎา การประไพ อาศัยอยู่ที่จังหวัดกาฬสินธุ์เธอเรียนรู้และทดลองวิธีการเล่าเรื่องโดยใช้ร่างกายของตนเองเป็นสื่อ และมักจะนำวัตถุแห่งความทรงจำ ส่วนตัว หรือสิ่งของแห่งภาพแทนต่างๆ มาใช้ร่วมกับการเล่าเรื่อง กฤษฎานำเสนอประเด็นการกดขี่ทางเพศจากประสบการณ์ส่วนตัวผ่านสื่อการแสดงสด และศิลปะจัดวาง
เฉลิมชัย บุญโต จบการศึกษาจากคณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น เขาสนใจเทคโนโลยีที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของเมือง-มนุษย์และวิถีชีวิต เขา นำเสนอประเด็นการขยายตัวของเมืองขอนแก่นผ่านผลงานจัดวาง ซึ่งประกอบไปด้วยงานซาวด์อาร์ต, วิดีโอฟุตเทจ, และวัสดุเก็บตก ซึ่งเป็นผลงานที่ พัฒนาต่อเนื่องมาจากการวิจัยภาคสนามเรื่องผลกระทบจากการสร้างเขื่อนอุบลรัตน์ในปี2563
อัฐกร แก้วหาวงศ์กำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีและยังเป็นหนึ่งในทีมช่างแกะเทียนตามงานบุญต่าง ๆ ในจังหวัดอุบลราชธานี เขา สำรวจประวัติศาสตร์ประเพณีแห่เทียนในจังหวัดอุบลราชธานีที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และจินตนาการถึงลวดลายและแบบแผนการแกะเทียนของ อุบลราชธานีที่ไม่ได้รับอิทธิพลจากส่วนกลาง อัฐกรทดลองหาวิธีสร้างบทสนทนาระหว่างผู้ชมและเรื่องเล่าชาดกที่ต่างจากงานไทยพระเพณีผ่านผลงาน ประติมากรรมจัดวาง