สุดยอดผลงานแห่งปี วงโปงลางสินไซ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คว้าแชมป์ 3 สมัยซ้อน การประกวดดนตรีพื้นบ้านวงโปงลาง ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในงานมหกรรมภูมิปัญญานันทนาการท้องถิ่นอีสาน ประจำปี 2566
เมื่อวันศุกร์ที่ 4 สิงหาคม 2566 กรมพลศึกษา กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา จัดพิธีเปิดและประกวดดนตรีพื้นบ้านวงโปงลางชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมนันทนาการในเด็กและเยาวชน ประจำปีงบประมาณ 2566 ณ อุดรธานีฮอลล์ ชั้น 4 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่าอุดรธานี อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี พิธีเปิดเริ่มต้นเวลา 14.10 น.มีนายอารัญ บุญชัย ปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานเปิดงาน หลังจากนั้นเริ่มต้นเข้าสู่บรรยากาศของการประกวดวันแรกในรุ่นอายุไม่เกิน 25 ปี (จัดประกวดฯ วันที่ 4-6 สิงหาคม) มีวงที่ผ่านรอบคัดเลือกมา 5 วง ดังนี้ วงดนตรีพื้นบ้านอีสานเพชรพลาญชัย จังหวัดร้อยเอ็ด วงศิลป์อีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม วงโปงลางอรรคฮาตสี จังหวัดมหาสารคาม วงโปงลางผกาลำดวน จังหวัดศรีสะเกษ และ วงโปงลางสินไซ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผลปรากฏว่า วงโปงลางสินไซ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับรางวัล “ชนะเลิศ” ดนตรีพื้นบ้านวงโปงลาง ซึ่งถือว่าเป็นสุดยอดผลงานแห่งปี และเป็นการครองแชมป์ถึง 3 สมัยซ้อน นอกจากนั้น ยังได้รับรางวัลอื่นๆ ตามมาอีก 7 รางวัล คือ รางวัลเทิดพระเกียรติดีเด่น รางวัลเปิดวงดีเด่น รางวัลลูกทุ่งดีเด่น รางวัลซอดีเด่น รางวัลพิณดีเด่น รางวัลนางไหดีเด่น และรางวัลกั๊บแก๊บดีเด่น
ผศ.ดร.บุรินทร์ เปล่งดีสกุล คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวชื่นชมผลงานของวงสินไซ ครั้งนี้ว่า ผมขอชื่นชมยินดีกับวงโปงลางสินไซ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ได้รับรางวัล “ชนะเลิศ”การประกวดดนตรีพื้นบ้านวงโปงลางชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในงานมหกรรมภูมิปัญญานันทนาการท้องถิ่นอีสาน ประจำปี พ.ศ. 2566 เป็นการคว้าแชมป์ 3 สมัยซ้อน ปี พ.ศ.2563, 2565 และ 2566 ด้วยความทุ่มเท ความใส่ใจทุกรายละเอียดของการแสดงของทีมคณาจารย์ผู้ควบคุมทุกท่าน ทำให้เราสามารถเอาชนะใจกรรมการได้ด้วยแนวคิด “look Isan” โดยให้ความสำคัญกับ Soft Power ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์เรื่อง “ลูกอีสาน” นำมาสร้างสรรค์เป็นชุดการแสดงในครั้งนี้ ทางคณะต้องขอขอบคุณท่านอธิการบดีที่ให้การสนับสนุนงบประมาณ ขอบคุณคณาจารย์ ศิษย์เก่า และนักแสดงสินไซทุกคนมากๆครับ และที่สำคัญขอบคุณกำลังใจจากแฟนๆสินไซทุกท่านที่ร่วมส่งแรงใจแรงเชียร์ในปีนี้
ด้านนายกิตติกวิน โยธี ตัวแทนนักดนตรี กล่าวถึงความรู้สึกในการเข้าร่วมทีม ว่า รู้สึกดีใจมากไม่คิดว่าตัวเองจะมายืนอยู่จุดนี้ได้ เพราะรุ่นพี่ทั้งสองรุ่นที่ผ่านมาครองแชมป์ไว้แล้ว 2 สมัย ตนรู้สึกกดดันมากแต่ก็พยายามฝึกซ้อมอย่างหนัก เพราะต้องทำให้ได้ต้องรักษาแชมป์ต่อจากพี่ๆ ที่ทำไว้ให้ได้ เวลากดดันมากๆ ผมก็แค่กรี๊ดออกไปเพื่อเรียกสติตัวเอง “ผมมองว่าสินไซเป็นมากกว่าวงโปงลาง เพราะสินไซ คือครอบครัว เราอยู่กันแบบพี่น้อง ช่วยเหลือกัน เวลาซ้อมมีพี่ๆ มาดูมาเชียร์ให้กำลังใจ ซื้อขนมซื้อข้าวมาให้กิน อบอุ่นมากครับ”
ส่วนนายณัฐิวุฒิ แสวงดี ตัวแทนนักแสดง กล่าวถึงความรู้สึก ว่า ตั้งแต่ได้โอกาสให้เข้ามาเป็นหนึ่งในสมาชิกวงสินไซครั้งแรกตนเองรู้สึกไม่มั่นใจเลย เพราะถือว่าเป็นหน้าที่ที่ทรงเกียรติ มันกดดันตัวเองในทุกๆวัน และได้ขอคำแนะนำ รุ่นพี่หลายๆคน ขณะเดียวกันต้องพยายามจัดการความรู้สึกของตัวเองจากคำแนะนำที่ว่า “จงเป็นตัวเอง” นั่นแหละครับ “ผมจึงทำไปด้วยความรู้สึก ตามเสียงเพลง ตามบรรยากาศหน้าเวที และเราก็ทำได้ครับ”
นายบุญโชค นาบำรุง ฝ่ายจัดการเสื้อผ้านักแสดง “คำเเรกเลยคือภูมิใจเเละดีใจมากๆเเละเป็นคอสตูม3ปีซ้อน ปีนี้เป็นปีที่กดดันมากที่สุดเพราะต้องป้องกันเเชมป์ให้ได้” ตอนซ้อมเปลี่ยนชุดมีทั้งหมด20คน เเต่วันจริงเกณฑ์ออกมาตอนเช้าว่าให้ไม่เกิน 56 คนรวมทั้งวงเเละสตาร์ฟ จึงได้ตัดสตาร์ฟออกเหลือฝั่งละ 4-5 คน กดดันจนก่อนจะขึ้นเเข่งร้องไห้ออกมา เพราะเหนื่อยมากเเละไม่ได้นอนเพราะต้องเเต่งหน้าให้กับนางรำ พวกเราคิดกันว่าถ้าชนะได้ที่ 1 อีกปีก็จะเป็นตำนานในการใช้สตาร์ฟเปลี่ยนชุดน้อยที่สุดเลย
และอาจารย์อาทิตย์ กระจ่างศรี ตัวแทนอาจารย์ผู้ควบคุมวง ได้กล่าวสรุปในตอนท้ายว่า ในฐานะตัวแทนจากผู้ดูแลการฝึกซ้อมเพื่อเข้าร่วมการประกวดวงโปงลางชิงแชมป์แห่งประเทศไทยในปีนี้ ผู้ดูแลการฝึกซ้อมหมายถึงทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเบื้องหลังการแสดง อาจารย์ภายในสาขาดนตรี ละการแสดง อาจารย์สาขาจิตกรรม อาจารย์สาขาออกแบบนิเทศศิลป์ อาจารย์พิเศษ วิทยากรรับเชิญ เจ้าหน้าที่คณะ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตอีสานจังหวัดขอนแก่น อาจารย์จากวิทยาลัยอาชีวะอุดรธานี นักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่า นักศึกษาต่างคณะ และอื่น ๆ อีกมากมายที่ร่วมกันทำงานในครั้งนี้ พวกเราดีใจมากที่ปีนี้สามารถรักษาแชมป์ได้เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน และภูมิใจที่ได้ทำงานด้านวัฒนธรรมซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ต้องขอขอบพระคุณท่านอธิการบดีที่สนับสนุนพวกเราในการเข้าร่วมประกวดทุกครั้ง ปีนี้พวกเราทำงานกันหนักมากเนื่องจากต้องรักษาแชมป์ให้ได้ ที่สำคัญมีระยะเวลาที่กระชั้นมาก คือหลังจากกรมพละศึกษาประกาศว่าทีมเราเข้ารอบแล้ว เรามีเวลาในการเตรียมตัวเพียง 3 สัปดาห์ในการทำงาน ซึ่งพวกเรารื้อแนวคิดงานใหม่หมดทุกอย่าง ตั้งแต่การตั้งคำถามว่าเราจะทำเรื่องอะไร จนได้แนวคิดเรื่อง “ลูกอีสาน-Look Isan” หลังจากได้แนวคิดเราก็แบ่งฝ่ายการทำงาน วางแผนงาน และดำเนินงานกันอย่างเร่งด่วน ท้ายที่สุดพวกเราก็ผ่านมันมาจนได้เพราะเราเป็นลูกอีสาน“ลูกอีสานที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคเพื่อพัฒนาบ้านตัวเองและเพื่อต้องการเชิญชวนให้ทุกคนหันกลับมามองเห็นอีสาน Look Isan” อีกครั้ง “นอกเหนือสิ่งอื่นใดผมรู้สึกว่าการทำงานทุกครั้งของเราไม่ใช่แค่เรื่องการประกวดวงโปงลางเท่านั้น แต่เป็นพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับผู้คนที่รักการทำงานด้านวัฒนธรรม ทุกคนมาเจอกันทำงานอย่างมีความสุขมาก ๆ ปีนี้ก็มีเครือข่ายมาเพิ่มอีก ซึ่งสิ่งนี้คือกำไรที่เกิดต่อจากรางวัลที่ได้รับมาครับ”
ขอขอบคุณ ภาพ / และข่าวจาก : https://th.kku.ac.th/152127/?fbclid=IwAR3uOC4AzHDee7XuFX-gOq0b4WLrFdH_KGD0SEi-dC-XtgfYryUnPzs6X3o