คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เข้าร่วมประชุมเครือข่ายประกันคุณภาพการศึกษาด้านศิลปกรรม

เมื่อวันที่ 14-15 มกราคม 2567 คณะผู้บริหารคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย ผศ.ดร.บุรินทร์ เปล่งดีสกุล คณบดี พร้อมด้วยทีมผู้บริหาร หัวหน้าสาขา ประธานหลักสูตร และเจ้าหน้าที่ ได้เข้าร่วมการประชุมเครือข่ายประกันคุณภาพการศึกษาด้านศิลปกรรมของกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาด้านสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม และการออกแบบ ณ โรงแรม S31 สุขุมวิท 23 กรุงเทพฯ และคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
การประชุมในครั้งนี้จัดขึ้นโดยคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ ซึ่งรับเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม มีคณะผู้บริหารจากหลากหลายสถาบันด้านสถาปัตยกรรม ศิลปกรรมและการออกแบบเข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 8 สถาบัน ประกอบไปด้วย
1. คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
2. คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
3. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ศิลปะและการออกแบบ มหาวิทยาลัยนเรศวร
4. คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
5. คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีล้านนา
6. คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ
7. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
8. คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ในโอกาสนี้ ผศ.ดร.บุรินทร์ เปล่งดีสกุล คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับมอบ ธงเจ้าภาพ เพื่อรับหน้าที่ในการจัดประชุมเครือข่ายประกันคุณภาพการศึกษาด้านศิลปกรรมในปีถัดไป
ตลอดระยะเวลา 2 วันของการจัดกิจกรรม ได้มีการเสวนาและแลกเปลี่ยน เกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศในหัวข้อ “EdPEx ดีกับพวกเราอย่างไร” ตลอดทั้งได้มีการเสวนาและแลกเปลี่ยน AUN-QA Version 4 หัวข้อ ANQA ดีกับพวกเราอย่างไร และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่มย่อย เรื่องแนวทางการดำเนินงานเกี่ยวกับการประเมินคุณภาพการศึกษา ระดับหลักสูตร ของกลุ่มผู้สอนทางด้านทัศนศิลป์ ออกแบบและสถาปัตยกรรม กลุ่มผู้สอนทางด้านดนตรี นาฎศิลป์และการแสดง กลุ่มบุคลากรสายสนับสนุน
การประชุมครั้งนี้มุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการประกันคุณภาพการศึกษา เพื่อพัฒนาแนวทางการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษาระดับอุดมศึกษาในยุคปัจจุบัน ตลอดจนสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบันต่างๆ ในการพัฒนาคุณภาพด้านศิลปกรรมและการออกแบบ ผู้แทนจากสถาบันอุดมศึกษาทั้ง 8 แห่ง ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดี และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกลุ่มผู้สอนและบุคลากรจากหลากหลายสาขาวิชา พร้อมทั้งนำเสนอแนวทางพัฒนาคุณภาพการศึกษาเพื่อสร้างความร่วมมือที่เข้มแข็งและยั่งยืนในอนาคต การประชุมครั้งนี้จึงถือเป็นอีกก้าวสำคัญของการพัฒนาศิลปกรรมศึกษาในระดับประเทศ   

Highlights