โครงการประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ประจำปี 2567 (FAR10)
“Exclusion – Inclusion in New Isan Art : Reimaging Rebranding and Reinterpreting
คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับสถาบันภาคีเครือข่ายทางด้านศิลปกรรม 16 แห่งทั่วประเทศจัดโครงการประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ประจำปี 2567 (FAR10) “Exclusion – Inclusion in New Isan Art : Reimaging Rebranding and Reinterpreting ณ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นระหว่างวันที่ 2 – 3 สิงหาคม 2567 ) เพื่อเป็นเวทีเปิดโอกาสในนักวิจัยนำเสนอผลงานทางด้านศิลปะสู่สาธารณะในระดับชาติและนานาชาติ ซึ่งในครั้งนี้มีผู้สนใจร่วมส่งบทความงานวิจัยในรูปแบบโปสเตอร์และการนำเสนอ Onsite เป็นจำนวนมาก และในครั้งนี้ได้รับเกียรติอย่างสูงจากดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานในพิธีเปิดงานและปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “การเลือกปรับใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมสำหรับการนิยามความเป็นศิลปะอีสานใหม่”
กิจกรรมเริ่มต้นในภาคเช้าวันที่ 2 สิงหาคม 2567 ได้มีกิจกรรมนำกลุ่มผู้เข้าร่วมงานเข้าเยี่ยมชมนิทรรศการ “นาคา ผู้คน และเงินตรา จากตำนานสู่เรื่องราวบนแผ่นดินอีสาน” ณ พิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ จังหวัดขอนแก่น ต่อมาในช่วงบ่ายได้มีพิธีเปิดโครงการประชุมวิชาการฯ ณ โรงละครคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุรินทร์ เปล่งดีสกุล คณบดีได้กล่าวรายงานต่อ ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น ประธานในพิธี สำหรับการนำเสนอผลงานวิชาการได้แบ่งการนำเสนอตามกลุ่มต่างๆ ดังนี้คือ กลุ่มทัศนศิลป์ กลุ่มออกแบบ กลุ่มดนตรี กลุ่มการแสดง และกลุ่มวัฒนธรรม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุรินทร์ เปล่งดีสกุล กล่าวว่า ในการประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ประจำปี 2567 (FAR10) Exclusion – Inclusion in New Isan Art : Reimaging Rebranding and Reinterpreting “การเลือกรับปรับใช้ทุนทางวัฒนธรรมสำหรับการนิยามความเป็นศิลปะอีสานใหม่” ได้รับความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ อันได้แก่
- สภาคณบดีทางศิลปะแห่งประเทศไทย
- สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
- คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์
- คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- วิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์
- คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
- ประธานหลักสูตรสาขาการจัดการทางวัฒนธรรม คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์
- คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
- คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม
- คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎร้อยเอ็ด
- คณะศิลปกรรมและออกแบบอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน
- คณะวิทยาการจัดการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยนครพนม
- คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- คณะศิลปกรรมศาสตร์และคณะวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
- ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
เพื่อจัดเวทีนำเสนอผลการวิจัย ผลงานวิทยานิพนธ์ ผลงานสร้างสรรค์ ของนักวิจัยนักวิชาการ คณาจารย์ นิสิตนักศึกษา และผู้ที่สนใจ อันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพการวิจัย การเรียนการสอน การบริการวิชาการเพื่อชุมชน สังคม และประเทศชาติ เสริมสร้างบรรยากาศการวิจัยและเปิดโอกาสให้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ การนำเสนอผลงานวิจัยที่จะพัฒนาสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ สร้างนักวิจัยใหม่ทางด้านศิลปกรรมศาสตร์ นำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาท้องถิ่นและประเทศ
ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตระหนักถึงความสำคัญของการวิจัย การศึกษาค้นคว้าองค์ความรู้ใหม่ และการสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาภูมิภาคและความอยู่ดีมีสุขของประชาชน นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันและองค์กรต่าง ๆ เพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยสู่ความเป็นเลิศทางด้านการสร้างบัณฑิตที่ตอบสนองต่อสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านศิลปกรรมศาสตร์ อันประกอบด้วยสาขาต่าง ๆ ได้แก่ ทัศนศิลป์ ออกแบบ ดนตรี การแสดง และวัฒนธรรม ซึ่งเป็นสาขาวิชาที่มีบทบาทและความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของชาติ ตลอดจนเป็นสาขาวิชาที่มุ่งเน้นความสุนทรียะและกล่อมเกลาจิตใจให้มีความผ่องแผ้วด้วยเช่นกัน การจัดงานประชุมในครั้งนี้ ถือเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เผยแพร่ผลงานการวิจัย ผลงานวิชาการ และผลงานสร้างสรรค์ อีกทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและส่งเสริมให้งานวิชาการด้านศิลปกรรมมีคุณภาพและเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นต่อไป
กิจกรรมในวันที่ 3 สิงหาคม 2567 เริ่มต้นเมื่อเวลา 9.00 น. มีการจัดเสวนาโต๊กลมในหัวข้อ “ศิลปกรรมในอุดมคติ : สิ่งที่ควรต้องมี (inclusion) และสิ่งทีอาจต้องทิ้ง (exclusion) ในการจัดการเรียนรู้ด้านศิลปะระดับอุดมศึกษาของไทยศตวรรษที่ 21 ” โดยอาจารย์ ดร.เศรษฐ์สิริ นิรันดร ประธานหลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาศิลปะการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภัธทรา โต๊ะบุรินทร์ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปวีณา แช่มช้อย ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา ประสบการณ์เรียนรู้ วัฒนธรรมและอัตลักษณ์ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนัชพร กิตติก้อง อาจารย์ประจำสาขาวิชาการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นผู้ดำเนินรายการ