โครงการประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ประจำปี 2567 (FAR10)

โครงการประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ประจำปี 2567 (FAR10)

Exclusion – Inclusion in New Isan Art : Reimaging Rebranding and Reinterpreting

คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับสถาบันภาคีเครือข่ายทางด้านศิลปกรรม 16 แห่งทั่วประเทศจัดโครงการประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ประจำปี 2567 (FAR10) “Exclusion – Inclusion in New Isan Art : Reimaging Rebranding and Reinterpreting ณ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นระหว่างวันที่ 2 – 3 สิงหาคม 2567 ) เพื่อเป็นเวทีเปิดโอกาสในนักวิจัยนำเสนอผลงานทางด้านศิลปะสู่สาธารณะในระดับชาติและนานาชาติ ซึ่งในครั้งนี้มีผู้สนใจร่วมส่งบทความงานวิจัยในรูปแบบโปสเตอร์และการนำเสนอ Onsite เป็นจำนวนมาก และในครั้งนี้ได้รับเกียรติอย่างสูงจากดร.ณรงค์ชัย  อัครเศรณี  นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานในพิธีเปิดงานและปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “การเลือกปรับใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมสำหรับการนิยามความเป็นศิลปะอีสานใหม่”

กิจกรรมเริ่มต้นในภาคเช้าวันที่ 2 สิงหาคม 2567 ได้มีกิจกรรมนำกลุ่มผู้เข้าร่วมงานเข้าเยี่ยมชมนิทรรศการ “นาคา ผู้คน และเงินตรา จากตำนานสู่เรื่องราวบนแผ่นดินอีสาน” ณ พิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ จังหวัดขอนแก่น ต่อมาในช่วงบ่ายได้มีพิธีเปิดโครงการประชุมวิชาการฯ ณ โรงละครคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุรินทร์ เปล่งดีสกุล คณบดีได้กล่าวรายงานต่อ ดร.ณรงค์ชัย  อัครเศรณี  นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น ประธานในพิธี สำหรับการนำเสนอผลงานวิชาการได้แบ่งการนำเสนอตามกลุ่มต่างๆ ดังนี้คือ กลุ่มทัศนศิลป์ กลุ่มออกแบบ กลุ่มดนตรี กลุ่มการแสดง และกลุ่มวัฒนธรรม

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุรินทร์ เปล่งดีสกุล กล่าวว่า ในการประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ประจำปี 2567 (FAR10) Exclusion – Inclusion in New Isan Art : Reimaging Rebranding and Reinterpreting “การเลือกรับปรับใช้ทุนทางวัฒนธรรมสำหรับการนิยามความเป็นศิลปะอีสานใหม่”   ได้รับความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ อันได้แก่

  1. สภาคณบดีทางศิลปะแห่งประเทศไทย
  2. สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
  3. คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์
  4. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  5. วิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์
  6. คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
  7. ประธานหลักสูตรสาขาการจัดการทางวัฒนธรรม คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์
  8. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
  9. คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  10. คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม
  11. คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎร้อยเอ็ด
  12. คณะศิลปกรรมและออกแบบอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน
  13. คณะวิทยาการจัดการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยนครพนม
  14. คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  15. คณะศิลปกรรมศาสตร์และคณะวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
  16. ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

เพื่อจัดเวทีนำเสนอผลการวิจัย ผลงานวิทยานิพนธ์ ผลงานสร้างสรรค์ ของนักวิจัยนักวิชาการ คณาจารย์ นิสิตนักศึกษา และผู้ที่สนใจ อันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพการวิจัย การเรียนการสอน การบริการวิชาการเพื่อชุมชน สังคม และประเทศชาติ เสริมสร้างบรรยากาศการวิจัยและเปิดโอกาสให้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ การนำเสนอผลงานวิจัยที่จะพัฒนาสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ สร้างนักวิจัยใหม่ทางด้านศิลปกรรมศาสตร์ นำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาท้องถิ่นและประเทศ

ดร.ณรงค์ชัย  อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตระหนักถึงความสำคัญของการวิจัย การศึกษาค้นคว้าองค์ความรู้ใหม่ และการสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาภูมิภาคและความอยู่ดีมีสุขของประชาชน นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันและองค์กรต่าง ๆ เพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยสู่ความเป็นเลิศทางด้านการสร้างบัณฑิตที่ตอบสนองต่อสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านศิลปกรรมศาสตร์ อันประกอบด้วยสาขาต่าง ๆ ได้แก่ ทัศนศิลป์ ออกแบบ ดนตรี การแสดง และวัฒนธรรม ซึ่งเป็นสาขาวิชาที่มีบทบาทและความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของชาติ ตลอดจนเป็นสาขาวิชาที่มุ่งเน้นความสุนทรียะและกล่อมเกลาจิตใจให้มีความผ่องแผ้วด้วยเช่นกัน ​การจัดงานประชุมในครั้งนี้ ถือเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เผยแพร่ผลงานการวิจัย ผลงานวิชาการ และผลงานสร้างสรรค์ อีกทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและส่งเสริมให้งานวิชาการด้านศิลปกรรมมีคุณภาพและเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นต่อไป

กิจกรรมในวันที่ 3 สิงหาคม 2567 เริ่มต้นเมื่อเวลา 9.00 น. มีการจัดเสวนาโต๊กลมในหัวข้อ “ศิลปกรรมในอุดมคติ : สิ่งที่ควรต้องมี (inclusion) และสิ่งทีอาจต้องทิ้ง (exclusion) ในการจัดการเรียนรู้ด้านศิลปะระดับอุดมศึกษาของไทยศตวรรษที่ 21 ” โดยอาจารย์ ดร.เศรษฐ์สิริ นิรันดร ประธานหลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาศิลปะการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภัธทรา โต๊ะบุรินทร์ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปวีณา แช่มช้อย ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา ประสบการณ์เรียนรู้ วัฒนธรรมและอัตลักษณ์ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนัชพร กิตติก้อง อาจารย์ประจำสาขาวิชาการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นผู้ดำเนินรายการ

 

Highlights