คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดการประกวดการแสดงพื้นบ้านสร้างสรรค์ อิสานสำแดงศิลป์ : Isan Folk Experiment ระดับมัยธยมศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครั้งที่ 1 รอบชิงชนะเลิศ ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ โรงละคร คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2567 เวลา 13.00 น. มีทีมที่ผ่านรอบคัดเลือกสู่รอบชิงชนะเลิศจำนวนทั้งสิ้น 13 ทีม
ก่อนเริ่มต้นการแข่งขันการแสดง ได้มีพิธีเปิดซึ่งได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานในพิธีเปิด และกล่าวรายงานโครงการโดย ผศ.ดร.บุรินทร์ เปล่งดีสกุล คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จากนั้นได้มอบของที่ระลึกแด่คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในการตัดสินการประกวดครั้งนี้ ประกอบไปด้วย ผศ.ดร.ธนัชพร กิตติก้อง รศ.วิศปัตย์ ชัยช่วย อ.ดร.อาทิตย์ กระจ่างศรี คุณกรัญกัลป์ตา ดิษยโสธรศิลป์ และ คุณกฤษฎิ์ ชัยศิลบุญ
สำหรับผลการประกวด รางวัลชนะเลิศ ได้แก่โรงเรียนเนินสง่าวิทยา รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ วิทยาลัยนาฏศิลปนครราชสีมา รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ โรงเรียนประสาทวิทยาคาร รางวัลชมเชย โรงเรียนสารคามพิทยาคมและโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช รางวัลส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมอีสาน โรงเรียนเดชอุดม โรงเรียนนครพนมวิทยาคม โรงเรียนปทุมรัตต์พิทยาคม โรงเรียนกระสังพิทยาคม โรงเรียนวังสามหมอวิทยาคาร โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย และวิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์
โครงการประกวดการแสดงพื้นบ้านสร้างสรรค์ “อีสานสำแดงศิลป์ : Isan Folk Experiment” ระดับมัธยมศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จัดขึ้นเป็นปีแรก มีแนวคิดของแก่นเรื่องคือ ปรัมปราอีสาน กล่าวถึงเรื่องราวที่เล่าสืบต่อกันมาของกลุ่มวัฒนธรรมต่างๆ ในภูมิภาคอีสาน หรือวัฒนธรรมอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เช่นเรื่องราวเกี่ยวกับตำนาน นิทาน ศาสนา วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ความเชื่อ ปรากฏการทางธรรมชาติและอำนาจเหนือธรรมชาติ นำมาวิเคราะห์และตีความใหม่ เชื่อมโยงกับวิถีวัฒนธรรมอีสาน นำเสนอผ่านการแสดงพื้นบ้านสร้างสรรค์ในแนวทางของการทดลอง (Isan Folk Experiment ) และมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการประกวดการแสดงพื้นบ้านสร้างสรรค์ ในวาระพิเศษครบรอบ 30 ปี แห่งการสถาปนาคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นการเปิดโอกาสและพื้นที่ให้กับเด็กและเยาวชนในการสร้างสรรค์การแสดงพื้นบ้าน และการประยุกต์ใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรม ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างประสบการณ์ และพัฒนาทักษะการแสดงและความคิดเชิงสร้างสรรค์ในงานศิลปวัฒนธรรมอีสาน เสริมสร้างเครือข่ายในการเผยแพร่ บริการวิชาการและส่งเสริมวิชาชีพ เพื่อพัฒนาสังคมด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านศิลปกรรม