โครงการฝึกอบรมบุคลากรครูด้านศิลปะตามโครงการสนับสนุนเสริมสร้างทักษะทางด้านศิลปะ ตามนโนบาย 1 ครอบครัว 1 ทักษะซอฟต์พาวเวอร์

คณะศิลปกรรมกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม และ THACCA – Thailand Creative Culture Agency จัดโครงการฝึกอบรมบุคลากรครูด้านศิลปะตามโครงการสนับสนุนเสริมสร้างทักษะทางด้านศิลปะ ตามนโนบาย 1 ครอบครัว 1 ทักษะซอฟต์พาวเวอร์ แก่ครูผู้สอนศิลปะตามโรงเรียนต่างๆ โดยมีครูผู้สอนศิลปะจากโรงเรียนในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าร่วมจำนวน 500 คนเ การดำเนินกิจกรรมเริ่มต้นระหว่างวันที่ 18 – 20 ตุลาคม 2567 ณ ห้องประชุมสายสุรีย์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มพูนทักษะและประสิทธิภาพในการเรียนการสอนทางด้านศิลปะโดยครูที่เข้ารับการอบรมได้รับทักษะใหม่ ๆ ในการสอนศิลปะ ทั้งในด้านศิลปะพื้นบ้านและศิลปะร่วมสมัย ทำให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการสอนนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังมีการสร้างเครือข่ายระหว่างครูศิลปะ ศิลปิน และองค์กรต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กันอย่างต่อเนื่อง ครูที่ผ่านการอบรมสามารถนำความรู้ไปพัฒนาชุมชนของตนเอง พร้อมทั้งสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนและผู้คนในชุมชนในการรักษาและต่อยอดมรดกทางวัฒนธรรมของพวกเขาต่อไปในอนาคต

ในวันแรกของกิจกรรม ได้มีพิธีเปิดโครงการอย่างเป็นทางการ โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.บุรินทร์ เปล่งดีสกุล คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานในพิธี หลังจากพิธีเปิดเสร็จสิ้น ได้มีการบรรยายความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศศิลปะเบื้องต้น พร้อมการฝึกปฏิบัติ โดย ผศ.ดร.ทรงวิทย์ พิมพะกรรณ์ ผู้ก่อตั้ง “โฮงสินไซ” นอกจากนี้ยังมีการอบรมในหัวข้อ “ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นและศิลปร่วมสมัย” โดย อ.ธีระวัฒน์ คะนะมะ ซึ่งเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับศิลปะพื้นบ้านอีสานและศิลปร่วมสมัย โดยเน้นให้ผู้เข้าร่วมเข้าใจการถ่ายทอดศิลปะที่เชื่อมโยงกับภูมิปัญญาท้องถิ่น

ในวันที่สองของกิจกรรม ได้มีการบรรยายหัวข้อ “การสืบค้นและนำทุนวัฒนธรรมชุมชนมาใช้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะและต่อยอดสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มเชิงพาณิชย์” โดย ผศ.ดร.พชญ อัคพราหมณ์ รวมถึงการบรรยายจาก ผศ.ดร.ศิริพงษ์ เพียศิริ และ รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ ในหัวข้อ “เทคนิคการสอนศิลปะอย่างไรให้ได้รับความนิยมและบทบาทศิลปะในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์” ซึ่งช่วยให้ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้วิธีการถ่ายทอดความรู้ทางศิลปะในบริบทที่กว้างขึ้น

สำหรับวันที่สาม ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการฝึกอบรม ได้จัดกิจกรรมฝึกปฏิบัติการทางด้านศิลปะใน 4 ฐานฝึก ได้แก่ ฐานสีน้ำ ฐานวาดเส้น ฐานเซรามิก และฐานสื่อทำมือ โดยกิจกรรมเหล่านี้มุ่งเน้นให้ครูผู้สอนศิลปะได้รับประสบการณ์จริงในการพัฒนาทักษะการสอนศิลปะ พร้อมสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในการสอนอย่างสร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพในอนาคต

ผศ.ดร.บุรินทร์ เปล่งดีสกุล คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ ได้กล่าวในตอนหนึ่งว่า “ในโลกยุคปัจจุบันที่ศิลปวัฒนธรรมมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกัน การพัฒนาความรู้และทักษะทางด้านศิลปะของบุคลากรครู จึงเป็นสิ่งจำเป็นในการถ่ายทอดความรู้ให้กับนักเรียนและเยาวชน ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริม Soft Power ของประเทศไทยในการสร้างคุณค่าและเพิ่มขีดความสามารถให้กับประเทศได้ในเวทีโลก”

รศ.ดร.พงษ์พิทยา สัพโส ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบัณฑิตศึกษาและพัฒนาดิจิทัล (ผู้รับผิดชอบโครงการ) ได้กล่าวถึงรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการฝึกอบรมบุคลากรครูด้านศิลปะภายใต้นโยบาย “1 ครอบครัว 1 ทักษะซอฟต์พาวเวอร์” ว่า โครงการนี้เกิดจากความตระหนักถึงความสำคัญของศิลปะในการสืบทอดวัฒนธรรมและการพัฒนาชุมชน โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งมีมรดกทางศิลปะที่โดดเด่นและหลากหลาย ศิลปะพื้นบ้านอีสาน ไม่ว่าจะเป็นการทอผ้าไหม ดนตรีพื้นบ้าน หรือเครื่องปั้นดินเผา ล้วนสะท้อนถึงภูมิปัญญาและวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น แต่ด้วยความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและสังคม จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาบุคลากรครูผู้สอนศิลปะ ให้มีความสามารถในการถ่ายทอดและประยุกต์ใช้ศิลปะท้องถิ่นกับการเรียนการสอนในปัจจุบัน เพื่อสืบสานมรดกนี้ให้ยังคงอยู่และทันสมัยไปพร้อม ๆ กัน

สามารถ Download ภาพกิจกรรมได้ที่ https://kku.world/arttraining

 

Highlights